Notice: Function _load_textdomain_just_in_time was called incorrectly. Translation loading for the wp-auto-updater domain was triggered too early. This is usually an indicator for some code in the plugin or theme running too early. Translations should be loaded at the init action or later. Please see Debugging in WordPress for more information. (This message was added in version 6.7.0.) in /home/outoffli35/domains/outofflink.com/public_html/wp-includes/functions.php on line 6114

Notice: Function _load_textdomain_just_in_time was called incorrectly. Translation loading for the hueman domain was triggered too early. This is usually an indicator for some code in the plugin or theme running too early. Translations should be loaded at the init action or later. โปรดดู การแก้ข้อผิดพลาดใน WordPress สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม (ข้อความนี้ถูกเพิ่มมาในรุ่น 6.7.0.) in /home/outoffli35/domains/outofflink.com/public_html/wp-includes/functions.php on line 6114
กลากน้ำนม - สาระสุขภาพ

กลากน้ำนม

กลากน้ำนม หรือ เกลื้อนน้ำนม (Pityriasis alba) หรืออาจเรียกว่า “โรคด่างแดด” เป็นโรคที่เกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีที่ชั้นหนังกำพร้าไม่สามารถสร้างเม็ดสีได้ตามปกติ ทำให้ผิวหนังส่วนนั้นจางลงกลายเป็นวงด่างขาว

กลากน้ำนมเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อย ส่วนใหญ่มักพบในเด็กวัยตั้งแต่อายุประมาณ 3-16 ปี (ประมาณ 90% ของผู้ป่วยจะมีอายุน้อยกว่า 12 ปี) สามารถพบได้ทั้งในเด็กชายและเด็กหญิง ส่วนเด็กที่มีอายุน้อยกว่านี้หรือผู้ใหญ่ก็อาจเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน

IMAGE SOURCE : www.clinicaladvisor.com, healthh.com, diseasespictures.com, www.dermatocare.com, www.mdpi.com, healthh.com

สาเหตุของกลากน้ำนม

กลากน้ำนมเกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสี (Melanocyte) ที่ชั้นหนังกำพร้าไม่สามารถสร้างเม็ดสี (Pigment) ได้ตามปกติ จึงทำให้ผิวหนังในส่วนนั้นกลายเป็นรอยด่างขาว ส่วนสาเหตุที่ทำให้เซลล์สร้างเม็ดสีเกิดความผิดปกตินั้นในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าอาจเกิดจากการแพ้ลมหรือแพ้แสงแดด การติดเชื้อแบคทีเรีย ภาวะขาดอาหาร การผิดอาหาร สบู่ที่มีด่างมากและน้ำเหลืองเสีย หรืออาจเกิดจากเชื้อที่เกิดออกมาพร้อมกับน้ำมูกหรือน้ำใส ๆ ที่ออกมาทางจมูก และมักพบในคนที่มีพันธุกรรมเป็นโรคภูมิแพ้ (Atopic dermatitis) ซึ่งจะทำให้ผิวหนังมีภาวะที่ไวต่อลมและแสงแดด

อาการของกลากน้ำนม

ในระยะเริ่มแรกรอยโรคจะเกิดเป็นจุดแดงเล็ก ๆ ก่อน (ในระยะนี้อาจมีอาการคันที่ผื่นได้ และผู้ป่วยอาจไม่ทันได้สังเกตเห็น) แล้วจุดแดงนี้จะแผ่ขยายเป็นวงสีแดงหรือสีชมพูจาง ๆ ขนาดตั้งแต่ 0.5-4 เซนติเมตร มีขุยบาง ๆ ต่อมาจะจางลงทำให้เห็นเป็นวงสีขาว ๆ มีขุยบาง ๆ ติดอยู่ (ถ้าใช้เล็บขูด หรือเมื่อดูให้ดีหรือใช้แว่นขยายส่องดูจึงจะเห็นมีขุยขาว ๆ บาง ๆ ติดอยู่) โดยรอยโรคจะมีลักษณะเป็นวงกลมหรือวงรี ขอบเขตไม่ชัดเจน ขอบมักจะค่อย ๆ กลืนไปกับสีผิวหนังปกติ (รอยด่างขาวจะเห็นได้ชัดตรงกลาง แล้วจางออกไปทางส่วนริม จึงทำให้ขอบของวงดูไม่ชัดเจน และในคนผิวคล้ำวงขาวของกลากน้ำนมจะเห็นได้ชัดมากกว่าในคนผิวขาว) ซึ่งผู้ป่วยจะไม่มีอาการคันหรือเจ็บแต่อย่างใด

โดยอาการมักจะเป็นมากในหน้าร้อน หรือหลังจากตากแดดตากลม (อากาศที่แห้งจะทำให้รอยโรคปรากฏชัดเจนมากขึ้น) และวงด่างขาวนี้มักจะเป็นอยู่นานแรมเดือนแรมปี หรือเป็น ๆ หาย ๆ จนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่ก็มักจะหายไปได้เอง
สำหรับตำแหน่งที่พบบ่อย คือ บริเวณใบหน้า เช่น แก้ม รอบปาก หรือหน้าผาก แต่ในบางรายอาจพบกลากน้ำนมได้ที่บริเวณลำคอ ไหล่ ลำตัว หน้าอก หลัง แขน และขาได้เช่นกัน

นอกจากนี้ โรคกลากน้ำนมยังพบได้มากขึ้นในเด็กที่เป็นโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง/ผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (Atopic dermatitis) และถือว่ากลากน้ำนมเป็นอาการแสดงรูปแบบหนึ่งของโรคนี้

การวินิจฉัยกลากน้ำนม

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคนี้ได้จากประวัติอาการของผู้ป่วย และจากการตรวจร่างกายบริเวณที่เป็นรอยโรค แต่หากมีข้อสงสัยต้องแยกจากโรคกลากหรือโรคเกลื้อน แพทย์จะทำการขูดรอยโรคเพื่อส่งตรวจหาเชื้อราที่ก่อโรคดังกล่าว

วิธีรักษากลากน้ำนม

  1. หากมีผื่นผิดปกติเกิดขึ้นที่บริเวณใบหน้าหรือบริเวณอื่น ๆ ผู้ปกครองสามารถพาเด็กไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อทำการตรวจวินิจฉัยและรับคำแนะนำเพิ่มเติมได้
  2. ถ้าพบว่าเป็นกลากน้ำนมจริง แพทย์จะให้ทาด้วยครีมสเตียรอยด์ (Corticosteroid) ความเข้มข้นต่ำ เช่น ครีมไตรแอมซิโนโลน อะเซโทไนด์ 0.02% (TA / Triamcinolone acetonide 0.02% cream), ครีมไฮโดรคอร์ติโซน 1-2% (Hydrocortisone 1-2% cream) โดยให้ทาวันละ 1-2 ครั้ง ในระยะเวลาที่จำกัดภายใต้การดูแลของแพทย์ เพื่อป้องกันผลข้างเคียงจากการใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานาน (เช่น ผิวหนังส่วนที่ทายาบางลง อักเสบ แตกเป็นแผลได้ง่าย เกิดขนขึ้นมากผิดปกติทำให้ขาดความสวยงามไป หรือยาอาจถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดเข้าไปกดการทำงานของต่อมหมวกไต เป็นต้น)
    • การทาด้วยครีมสเตียรอยด์นี้อาจใช้เวลาเป็นเดือน ๆ กว่าจะหาย (บางรายอาจได้ผล แต่บางรายอาจจะไม่ได้ผล) หรือบางรายอาจหายได้เองโดยไม่ต้องทาครีมสเตียรอยด์ก็ได้ ถ้าหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงและปฏิบัติตามคำแนะนำในข้อ 5
    • ห้ามใช้ครีมสเตียรอยด์ความเข้มข้นสูงหรือชนิดที่แรง ๆ เพราะอาจทำให้ผิวหนังเป็นรอยด่างขาวจากยาได้ ซึ่งจะรักษาให้หายได้ยาก
    • ห้ามซื้อยาทาประเภทแสบร้อนหรือขี้ผึ้งเบอร์ต่าง ๆ มาใช้ทา เพราะอาจทำให้หน้าไหม้เกรียม หรือหนังแห้งเป็นผื่นดำได้
  3. ถ้าหากแยกกันไม่ออกระหว่างกลากน้ำนมกับเกลื้อน ให้ลองรักษาแบบเกลื้อนดูก่อน หรือถ้าใช้ครีมสเตียรอยด์ทาแล้วรอยโรคกลับลุกลามมากขึ้นก็อาจเป็นเกลื้อนได้ ควรหยุดยาสเตียรอยด์ และให้ใช้ยาฆ่าเชื้อรารักษาเกลื้อนแทน
  4. คุณแม่บางท่านเชื่อว่าการใช้สำลีชุบน้ำนมแม่นำมาเช็ดบริเวณที่เป็นรอยโรคให้ลูกทุกวัน หรือการใช้ดอกมะลิแช่เย็นและนำมาขยี้เบา ๆ ใช้ถูบริเวณที่เป็นรอยโรค ร่วมไปกับการรักษาความสะอาดต่าง ๆ ให้ดี เช่น การใช้สำลีชุบน้ำสะอาดเช็ดเบา ๆ การเปลี่ยนเสื้อ เปลี่ยนผ้าเช็ดหน้า หรือผ้ากันเปื้อนบ่อย ๆ จะช่วยให้รอยด่างขาวจางลงและหายไปได้เร็วขึ้น (ถ้าถามหมอ หมอจะแนะนำให้เน้นการปฏิบัติตามคำแนะนำในข้อ 5 จะดีกว่าครับ เพราะอย่างที่บอกไปแล้วว่า กลากน้ำนมเกิดจากเซลล์สร้างเม็ดสีไม่สามารถสร้างเม็ดสีได้ตามปกติ ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคหรือเชื้อราแต่อย่างใด)
  5. สำหรับการดูแลตนเองในระหว่างที่เป็นกลากน้ำนม ควรปฏิบัติดังนี้
    • หลีกเลี่ยงแสงแดด พยายามอย่าตากแดดตากลมมากนัก เช่น ถ้าเคยเล่นกีฬาตอนแดดจัด ก็ให้เลื่อนมาเล่นตอนไม่มีแดด คือ ช่วงเช้าตรู่หรือตอนเย็นแทน และถ้าต้องโดนแดดก็ควรทาครีมกันแดดก่อนออกแดดด้วยทุกครั้ง โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นรอยโรค (ส่วนการว่ายน้ำก็มีส่วนทำให้กลากน้ำนมเป็นวงด่างขาวชัดเจนและลามมากขึ้นได้ จึงควรว่ายน้ำในช่วงเวลาเย็น ๆ หรือตอนเช้าซึ่งแดดไม่จัดนัก)
    • ควรทาครีมบำรุงผิว (Moisturizer) เป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะบริเวณรอยโรค
    • การอาบน้ำหรือการล้างทำความสะอาดบริเวณที่เป็นรอยโรค ควรใช้สบู่อ่อน ๆ เช่น สบู่เหลว สบู่เด็ก หรือผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวสำหรับเด็กอ่อน
    • อาบน้ำอุณหภูมิปกติหรืออุ่นพอประมาณ ไม่อุ่นมากจนเกินไป
    • การใช้เครื่องสำอางกับผิวบริเวณที่เป็นโรค ควรใช้เครื่องสำอางชนิดไม่แพ้และชนิดอ่อนโยนต่อผิวหนัง

ข้อควรรู้เกี่ยวกับกลากน้ำนม

  • โรคนี้อาจเป็นเรื้อรังหรือเป็น ๆ หาย ๆ นาน 1-2 ปี แต่จะไม่มีอันตรายหรือผลข้างเคียงแต่อย่างใด ยกเว้นปัญหาในด้านความงามและภาพลักษณ์ และเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วกลากน้ำนมมักจะหายไปได้เอง (แต่บางคนอาจเป็นโรคนี้ได้เมื่อโตแล้ว ทั้งนี้เป็นเพราะผิวหนังเพิ่งจะเกิดปฏิกิริยากับสาเหตุหรือสิ่งกระตุ้นในระยะนั้น ๆ)
  • โรคนี้เป็นโรคที่หายได้เองและจะไม่ทิ้งรอยด่างหรือแผลเป็นเอาไว้ แต่ก็อาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีก (มักจะหายได้เองภายในเวลาเป็นเดือนหรือหนึ่งปี)
  • โรคนี้ไม่สามารถติดต่อไปยังผู้อื่นได้ เพราะไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคหรือเชื้อราแต่อย่างใด
  • โรคนี้ไม่ได้เกี่ยวกับน้ำนมหรือเกิดจากการกินนมหกเลอะเทอะเรี่ยราดแต่อย่างใด แต่ที่เรียกว่า “กลากน้ำนม” หรือ “เกลื้อนน้ำนม” นั้น เป็นเพราะว่ามักจะพบโรคนี้ในระยะที่เด็กกินนม และรอยโรคมีลักษณะคล้ายกับน้ำนมแห้งติดอยู่ที่แก้ม
  • โรคนี้ต่างจากเกลื้อนตรงที่เกลื้อนจะเกิดรอยโรคขึ้นที่บริเวณหลัง คอ และหน้าอก และพบได้มากในคนวัยหนุ่มสาวที่มีเหงื่อออกมาก แต่กลากน้ำนมนั้นจะเกิดมากที่ใบหน้า และพบได้มากในเด็กไปจนถึงวัยหนุ่มสาว
  • เมื่อรักษาแล้ว ขุยบาง ๆ มักจะหายไป แต่รอยขาวอาจจะเหลืออยู่บนผิวหนังได้อีกเป็นเวลานาน
  • ที่บอกว่าไม่ควรใช้ยาสเตียรอยด์เป็นเวลานานหรือใช้แบบแรง ๆ ก็เป็นเพราะว่า โรคนี้มักจะเป็น ๆ หาย ๆ และถ้าใช้บ่อย ๆ หรือใช้มาก ๆ ก็อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงตามมาด้วย ซึ่งผลข้างเคียงนี้ก็มีหลายอย่างเสียด้วยดังที่กล่าวมาแล้ว
  • โรคนี้เมื่อไม่โดนแดดจัด ๆ รอยโรคจะค่อย ๆ จางลงเอง ผู้ป่วยอาจใช้ครีมบำรุงผิวทาเพื่อให้เกิดความชุ่มชื้น หรือทาครีมสเตียรอยด์อย่างอ่อนก็จะช่วยให้รอยโรคจางลงได้เร็วขึ้น

วิธีป้องกันกลากน้ำนม

ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีป้องกันกลากน้ำนม เพราะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อาจลดโอกาสในการเกิดได้ด้วยการปฏิบัติดังนี้

 

  • หลีกเลี่ยงแสงแดด พยายามอย่าตากแดดตากลมมากนัก และทาครีมกันแดดทุกครั้งเมื่อต้องออกแดด
  • รักษาผิวให้ชุ่มชื้นอยู่เสมอด้วยการใช้ครีมบำรุงผิวหลังการอาบน้ำทุกครั้ง และควรระวังอย่าให้เกิดภาวะผิวแห้ง
  • ใช้สบู่และเครื่องสำอางชนิดอ่อนโยนต่อผิว เช่น สบู่เด็ก
เอกสารอ้างอิง
  1. หนังสือตำราการตรวจรักษาโรคทั่วไป 2.  “กลากน้ำนม (Pityriasis alba)”.  (นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ).  หน้า 1015-1016.
  2. หาหมอดอทคอม.  “กลากน้ำนม เกลื้อนน้ำนม (Pityriasis alba)”.  (พญ.ชลธิรศน์ ศรีเกษตรสรากุล).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [03 ธ.ค. 2016].
  3. เครือข่ายความร่วมมือบริการเภสัชสนเทศ.  “โรคกลากน้ำนม (Pityriasis alba)”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : drug.pharmacy.psu.ac.th.  [03 ธ.ค. 2016].
  4. มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 4 คอลัมน์ : โรคผิวหนัง.  “กลากน้ำนม”.  (นพ.วิชนารถ เพรชบุตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [03 ธ.ค. 2016].
  5. มูลนิธิหมอชาวบ้าน.  “วิธีรักษากลากน้ำนม”.  (นพ.ประวิตร พิศาลบุตร).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th.  [03 ธ.ค. 2016].

เรียบเรียงข้อมูลโดยเว็บไซต์เมดไทย – www.medthai.com

You may also like...

error: Content is protected !!