เดือนธันวาคม ช่วงสิ้นปี ถือว่าเป็นเดือนที่มีวันหยุดยาวต่อเนื่องมากที่สุดของปีนี้ ทำให้มีการเดินทางออกไปต่างจังหวัดของประชาชนจำนวนมาก ภายใต้การกลับมาระบาดใหม่อีกครั้งของ COVID-19 สายพันธุ์โอมิครอน BA.4 BA.5 ที่ทั้งรุนแรง และแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วกว่าสายพันธุ์ BA.1 BA.2 ที่เราเคยเจอมา แม้ว่าปัจจุบัน ภาครัฐจะมีการผ่อนปรนมาตรการการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ แต่ตัวเลขที่มีการรายงานก็ยังถือว่าต่ำกว่าความเป็นจริงมากอยู่ดี
มูลนิธิหมอชาวบ้าน ในฐานะองค์กรด้านสุขภาพ ที่ให้ความรู้แก่ประชาชน เพื่อให้ทุกคนสามารถป้องกันตัวเองใบเบื้องต้น ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาในโรงพยาบาล ขอเป็นส่วนหนึ่งในการเตรียมความพร้อมให้ทุกคนเดินทางท่องเที่ยว และเดินทางกลับบ้านในช่วงวันหยุดยาวได้อย่างปลอดภัย โดยเฉพาะกลุ่ม 608 ที่มีความเสี่ยงทางสุขภาพมากกว่ากลุ่มเป้าหมายอื่น
1.เตรียมความพร้อมก่อน และระหว่างเดินทาง แบ่งได้เป็น 3 กรณี
1.1 กรณีเดินทางข้ามจังหวัดด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล ควรปฏิบัติตน ดังนี้
ปัจจุบันการเดินทางข้ามจังหวัด มีการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้นกว่าเดิมทั่วประเทศแล้ว จากที่เมื่อก่อนต้องเตรียมเอกสารรับรองมากมาย เช่น เอกสารยืนยันการเข้ารับวัคซีนตามเกณฑ์, ผลตรวจ ATK หรือ ผลตรวจ RT-PCR ที่ได้รับการรับรองจากสถานพยาบาล ถึงจะเดินทางเข้าจังหวัดได้ แต่นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา มาตรการต่างๆที่แต่ละจังหวัดกำหนดไว้ ก็ปรับความมเข้มงวดลง เหลือเพียงแต่การเฝ้าระวัง และควบคุมการเปิดสถานประกอบการ ให้ดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง โดยเฉพาะตามสถานที่จัดกิจกรรมที่มีการรวกลุ่มของประชาชนอยู่หนาแน่น
คำแนะนำสำหรับประชาชนทั่วไปที่ต้องเดินทางไกล ให้ปฏิบัติตน ดังนี้
1.ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ สเปรย์แอลกอฮอล์ หรือสบู่เหลวสำหรับล้างมือ ทั้งก่อนและหลังแวะรับประทานอาหาร
2.เลี่ยงจุดสัมผัสร่วม
3.เปิดหน้ากากอนามัยเพื่อรับประทานอาหารเท่านั้น เมื่อทานเสร็จแล้วให้สวมหน้ากากอนามัยกลับไปตามเดิม
4.สวมหน้ากากอนามัย ร่วมกับหน้ากากผ้ารวมกันเป็นสองชั้น เพื่อการป้องกันที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
5.หากรับประทานอาหารในรถยนต์ ควรเปิดกระจกรถยนต์เพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
1.2 กรณีเดินทางข้ามจังหวัดโดยรถโดยสารสาธารณะ ควรปฏิบัติตน ดังนี้
1.คัดกรองตัวเองด้วยชุดตรวจ ATK หากผลเป็นบวก ให้งดเดินทาง/กักตัวที่บ้าน ติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้ากระบวนการรักษาตามสิทธิของตัวเองต่อไป
2.รักษาระยะห่างกับผู้อื่น 1 – 2 เมตร เสมอ
3.ล้างมือด้วยสบู่ /เจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์บ่อยๆ
4.เลี่ยงจุดสัมผัสร่วมบนรถโดยสารสาธารณะ
5.สวมหน้ากากอนามัย และหน้ากากผ้าร่วมกันสองชั้น
6.เมื่อรถจอดแวะยังจุดพักรับประทานอาหารให้ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ก่อน และหลังรับประทานอาหาร
7.ไม่เปิดหน้ากากอนามัยเพื่อรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำบนรถโดยสาร เพื่อลดความเสี่ยงในการรับเชื้อ
8.ใช้กระดาษทิชชู่แทนการสัมผัสด้วยมือ เมื่อต้องสัมผัสราวบันได หรือตัวปรับพนักพิง อย่าลืมทิ้งกระดาษทิชชู่ทุกครั้งเมื่อใช้เสร็จแล้ว
1.3 กรณีเดินทางผ่านสายการบิน ควรปฏิบัติตน ดังนี้
สำหรับนักเดินทางที่จะเดินทางเข้าประเทศไทย ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เป็นต้นไป มีการรับมาตรการเข้าประเทศ 5 ข้อ ดังนี้
13.1 ยกเลิกการลงทะเบียน Thailand Pass เพื่อเข้าประเทศไทย
1.3.2 ผู้โดยสารที่ได้รับวัคซีนครบถ้วน สามารถเข้าประเทศไทยได้โดยไม่ต้องมีผลตรวจ COVID-19 เพิ่มเติม หากมีอาการป่วย แนะนำให้ตรวจด้วย rapid Antigen Test (PRO-ATK) ซึ่งเป็นชุดตรวจ ATK ที่ไม่สามารถตรวจได้ด้วยตัวเอง ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทางการแพทย์ตรวจให้เท่านั้น เพราะไม้สว๊อปยาวกว่า และมีปริมาณน้ำยาที่มากกว่า
1.3.3 ผู้โดยสารที่ยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนแล้วแต่ไม่ครบโดส คือ ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น (Booster dose) หลังฉีดไป 2 เข็มแรก จะต้องมีผลตรวจ PRO-ATK หรือ RT-PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง เพื่อที่จะสามารถเข้าประเทศได้เช่นเดียวกับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบถ้วน
1.3.4 สายการบินจะต้องตรวจสอบเอกสารของผู้โดยสารระหว่างประเทศว่ามีเอกสารการรับวัคซีน หรือผลการตรวจ PRO-ATK หรือผลการตรวจ RT-PCR หรือไม่ หากผู้โดยสารไม่มีเอกสารอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้น จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรค
1.3.5 สำหรับสายการบินต่างชาติ สามารถส่งเอกสารรับรองลูกเรือว่าเป็นไปตามข้อกำหนด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกเรือ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรคอาจตรวจสอบเอกสารอีกครั้งหนึ่ง
ลำดับต่อไป คือ วิธีป้องกันตัวเองจาก COVID-19 บนเครื่องบิน สิ่งที่ต้องรู้คือจุดเสี่ยงบนเครื่องบินที่อาจจะเกิดการสะสมของเชื้อโรค หรือเกิดการแพร่กระจายของโรคได้ ดังนี้
– ห้องน้ำบนเครื่องบิน หนึ่งในพื้นที่ ที่เกิดการสะสมของเชิ้อโรคมากที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งโดยปกติแล้วหากเป็นการเดินทางระยะสั้น ก็อาจไม่มีความจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำ แต่ถึงตัวเราไม่ได้ใช้ก็อาจจำเป็นต้องพาคนในครอบครัวไปใช้บริการ เช่น เด็ก หรือผู้สูงอายุ คำแนะนำ คือ ควรใช้สเปรย์แอลกอฮอล์ที่เตรียมมาพ่นและเช็ดทำความสะอาดฝารองนั่งก่อนใช้งานทุกครั้ง และล้างมือด้วยสบู่ หรือน้ำยาล้างมือ หลังจากใช้ห้องน้ำเสร็จแล้ว
– ที่นั่งริมทางเดิน เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ ที่เราอาจจะนึกไม่ถึงว่ามีความเสี่ยงอย่างไร แต่อย่าลืมว่าที่นั่งริมทางเดินนั้น มีโอกาสต้องเจอกับผู้โดยสารคนอื่น ทั้งก่อนขึ้นบิน และระหว่างทำการบินเช่นกัน ดังนั้น เมื่อต้องเลือกที่นั่ง หากทำได้ ควรเลี่ยงที่นั่งริมทางเดินไว้ แต่หากเลี่ยงไม่ได้ ขอแนะนำให้สวม FaceShield อีกชั้นหนึ่ง และพกเจล หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ติดตัวเสมอ เพื่อเป็นการป้องกันตนเองขั้นสูงสุด
– เข็มขัดนิรภัย อีกหนึ่งจุดสัมผัสร่วมที่ต้องระวังการสัมผัส เมื่อต้องจับ หรือสัมผัสตามมาตรการความปลอดภัยทางอากาศยาน ควรล้างมือด้วยเจล หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ทุกครั้ง
– ถาดอาหาร ถึงแม้ว่าการเดินทางในประเทศจะใช้เวลาไม่นาน และสายการบินอาจจะไม่ได้เสิร์จน้ำ หรืออาหาร ระหว่างการเดินทาง แต่หากเราหรือคนในครอบครัว สั่งอาหารหรือน้ำดื่มมารับประทาน ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสัมผัสกับถาดวางอาหารคำแนะนำ คือ ฉีดพ่นด้วยสเปรย์แอลกอฮอล์ก่อนใช้งานทุกครั้ง
ข้อที่ควรระวังเกี่ยวกับของใช้ที่ต้องเตรียมก่อนขึ้นเครื่องบิน ปฏิบัติตามข้อกำหนดของสำนักงานการบินพลเรียนแห่งประเทศไทย ดังนี้
– กรณีกระเป๋าถือขึ้นเครื่อง : การพกเจล หรือสเปรย์แอลกอฮอล์ขึ้นเครื่องบิน บรรจุภัณฑ์ต้องมีปริมาณความจุ ไม่เกิน 350 มิลลิลิตร (12 ออนซ์) แต่ต้องมีปริมาณรวมกับของเหลว เจล สเปรย์อื่นๆ สูงสุดไม่เกินคนละ 1,000 มิลลิลิตร
– กรณีกระเป๋าโหลดใต้ท้องเครื่อง : บรรจุภัณฑ์ต้องมีปริมาณความจุไม่เกิน 500 มิลลิลิตร (17 ออนซ์) แต่ต้องมีปริมาณรวมกับของเหลว เจล สเปรย์อื่นๆ สูงสุดไม่เกินคนละ 2,000 มิลลิลิตร
ปิดท้ายด้วยข้อมูลที่น่าสนใจ สำหรับคนที่เดินทางกลับมาแล้ว ตรวจพบว่าติดเชื้อ
- สังเกตอาการของตนเอง เช่น อาการคัดจมูก เจ็บคอ ไอ รับประทานยารักษาตามอาการ
- นำยาที่เตรียมไว้ หรือจัดหายามารักษาตามอาการ โดยเฉพาะยาฟ้าทะลายโจร ควรซื้อติดบ้านไว้ ระหว่างรอรับยาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือสถานพยาบาลที่ติดต่อได้
- กักตัวในที่อยู่อาศัย เป็นระยะเวลา 10 วัน ไม่ออกไปทำกิจกรรมข้างนอก หากมีเครื่องวัดไข้ และเครื่องวัดอ็อกซิเจน ให้ใช้ตรวจวัดอาการของตัวเองอยู่สมอ
- แยกขยะของตัวเองใส่ไว้ในถุงขยะติดเชื้อ เขียนป้ายกำกับให้ชัดเจน และแจ้งหน่วยงานบริการใกล้บ้านให้นำขยะติดเชื้อไปกำจัดตามกระบวนการต่อไป
- ตรวจคัดกรองด้วย ATK วันที่ 3,5,7 และ 10 เพื่อเช็คผลว่ายังเป็นบวกอยู่หรือไม่ ในกรณีที่กักตัวจนครบ 10 วัน แล้ว แต่ผลยังขึ้นบวกอยู่ ถือว่าเป็น “เชื้อตาย” ที่ยังหลงเหลืออยู่ในร่างกายของผู้ป่วย
ขอบคุณที่มา นิตยสารหมอชาวบ้าน